เทคนิคการสอนภาษาไทย
เทคนิคการสอนภาษาไทย
เฉลิมลาภ ทองอาจ
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การพัฒนาการเรียนการสอนที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งคือ การพัฒนาทักษะการสอนของครู คำว่าทักษะการสอนในที่คือ ความสามารถในการปฏิบัติการสอนด้านต่างๆ อย่างชำนาญ ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสอน ซึ่งได้แก่ ความรู้ความเข้าใจเรื่องทฤษฎี/หลักการสอน ระบบการสอน รูปแบบการเรียนการสอน วิธีสอนและเทคนิคการสอน (ทิศนา แขมมณี, 2548: 387) ในที่นี้กล่าวถึงเฉพาะแต่เทคนิคการสอน ซึ่งหมายถึง ความรู้ต่างๆที่จะช่วยเสริมให้วิธีสอน รูปแบบและระบบการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคนิคการสอนนี้มีจำนวนมาก เช่น เทคนิคการตั้งคำถาม เทคนิคการเสริมแรง เทคนิคการยกตัวอย่าง เทคนิคการใช้สื่อและอุปกรณ์ต่างๆ (ทิศนา แขมมณี,2548) สำหรับเทคนิคการสอนบางส่วนที่เลือกมานำเสนอมีดังนี้
1. เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน
การนำเข้าสู่บทเรียน คือขั้นตอนก่อนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมความพร้อมของผู้เรียนให้เกิดการผ่อนคลายจากกิจกรรมที่ทำมาก่อน และสร้างแรงจูงใจภายในคือแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดความสนใจและความต้องการที่จะทำกิจกรรมของผู้เรียน เทคนิคที่พบในการนำเข้าสู่บทเรียน เช่น การนำเข้าสู่บทเรียนด้วยการใช้สื่อการสอน เช่น ใช้ภาพ หุ่นจำลอง ของจริง สไลด์ ภาพยนตร์ แผนภูมิ แผนที่ ลูกโลก หรือกิจกรรมต่างๆเช่น การร้องเพลง การขับเสภา การเล่านิทาน การเล่าเรื่อง การแสดงบทบาทสมมติ และเกมต่างๆเพื่อกระตุ้นความสนใจ (สุจริต เพียรชอบ, 2530: 83) หรือ หากต้องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในเชิงทักษะสัมพันธ์ คือการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะต้องใช้ทักษะทางภาษา คือฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างสัมพันธ์กันไปตลอดการเรียนรู้ ในขั้นนำนั้น ก็ควรใช้การฟัง การอภิปราย การซักถาม การอ่านออกเสียง การอ่านข้อความจากแผนภูมิ การอ่านในใจเอกสารที่ครูแจกให้ หรือการเขียนสรุป วิจารณ์แสดงความคิดเห็นในส่วนที่เรียนมาแล้ว ตัวอย่าง การสอนวรรณคดีเรื่อง พหุบาทสัตวาภิธาน อาจนำเข้าสู่บทเรียนโดยการให้นักเรียนพิจารณาภาพสัตว์สองเท้า สี่เท้า หรือสัตว์ที่ขามากกว่าสี่เท้า แล้วให้นักเรียนพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสัตว์เหล่านั้น (สุจริต เพียรชอบ, 2530: 150)
แนวคิดที่สำคัญในการนำเข้าสู่บทเรียนคือการสร้างลักษณะจิตเชิงบวก (A Positive mental )
ซึ่งหมายถึง ทัศนคติของจิตที่นักเรียนที่เตรียมจะอุทิศตนโดยการมุ่งตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ และมีจิตใจอุตสาหะที่จะทำกิจกรรมที่ครูได้กำหนดขึ้น (Kyriacou, 1991: 51) เมื่อย้อนกลับมาในการปฏิบัติการสอนในชั้นเรียน การนำเข้าสู่บทเรียนส่วนใหญ่ มักจะใช้การหัวข้อเรื่องหรือกิจกรรมซึ่งมีความสัมพันธ์มานำ แต่ในบางครั้งครูก็อาจประสบภาวะหยุดชะงักได้ หากมีนักเรียนแม้เพียงคนเดียวไม่สนใจ ซึ่งมีข้อแนะนำว่า หากครูเสนอหัวข้อเรื่อง จะมีวิธีการอย่างไรที่จะดึงความสามารถและความสนใจของผู้เรียนออกมา ในที่นี้วิธีที่ดีที่สุดคือการควบคุมเสียงของตนเองให้มีน้ำเสียงแสดงความน่าสนใจ ความมุ่งหมายที่แจ่มชัดหรือความตื่นเต้นเกี่ยวกับเรื่องราวที่จะตามมา
ครูสามารถใช้หลักเกณฑ์เรื่องการสร้างจิตใจตรวจสอบว่านักเรียนทุกคนมีความพร้อมและเตรียมตัวที่จะเริ่มต้นบทเรียน ในขณะนี้ให้ครูพิจารณาว่า ยังมีกระเป๋าของนักเรียนวางอยู่บนโต๊ะ หรือนักเรียนบางคนยังยืนคุยอยู่กับคนอื่นอยู่ หรือมองหาหนังสือแบบฝึกหัดที่ไม่ใช่ของตนเองหรือไม่ หากยังมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ มีอยู่ทักษะหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ การตัดสินใจว่าจะหยุดพักก่อนการนำเพื่อเตรียมห้องโดยพิจารณาความเรียบร้อย หรือไม่ก็เริ่มเข้าสู่บทเรียนโดยไม่มีเงื่อนไขทันที (Kyriacou, 1991) ซึ่งอย่างหลังนี้นักเรียนจะต้องรีบให้ความสนใจครูทันทีเพราะเห็นว่าครูไม่รอ
ความรู้ที่จะช่วยให้ครูใช้เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นคือการวิเคราะห์ลักษณะการสอน (Teaching Style) ของครู และลักษณะการเรียนรู้ของนักเรียน ( Learning Style) ซึ่งลักษณะการสอนของครูโดยเฉพาะในการนำสู่บทเรียนนั้น หากครูเริ่มต้นแนะนำแนวคิดหรือข้อเท็จจริงจนกระทั่งนักเรียนเริ่มที่จะเข้าใจแนวคิดหรือเรื่องนั้นๆ ครูผู้นั้นจะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “การสอนเชิงวิเคราะห์” (Analytic teaching) ซึ่งต้องเกิดจากกระบวนการวิเคราะห์ในการสอน กล่าวคือ จิตใจของนักเรียนจะต้องซึมซับข้อมูลชิ้นเล็กๆจำนวนมาก แล้วนำไปสังเคราะห์ขึ้นเป็นความเข้าใจทั้งหมด ส่วนนักเรียนแบบวิเคราะห์ (Analytic Student) จะต้องมีชีวิตที่สัมพันธ์กับรายละเอียด กฎ วิธีการ และคำสั่ง นักเรียนเหล่านี้จึงชอบความเฉพาะเจาะจง และการเรียนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ในทางตรงกันข้าม หากครูสอนเริ่มนำเข้าสู่เรื่องโดยการใช้การเล่าเรื่องที่ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจอย่างมากในบทเรียน เช่น เกร็ดประวัติ เรื่องขำขัน รูปภาพประกอบ ตลอดจนสัญลักษณ์ และสามารถที่จะเติมเต็มช่องว่างด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ ครูผู้นั้นก็มี “การสอนเชิงโลก” (Global teaching) และนักเรียนที่มีลักษณะการเรียนรู้เชิงโลก (Global Student) นั้นจะชื่นชอบการเรียนรู้จากผลสุดท้าย หรือภาพรวมขนาดใหญ่ (Big picture) หรือผลผลิตที่ได้เป็นอันดับแรก จากนั้นจึงย้อนกลับไปวิเคราะห์ให้เห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ (Dunn และ Dunn,1993: 101-102) ซึ่งอาจยกตัวอย่างให้สอดคล้องกับการสอนภาษาไทย ในระดับช่วงชั้นที่ 3 (ม.3) เช่น การสอนแต่งคำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ ครูผู้สอนที่ถนัดเชิงวิเคราะห์จะให้พิจาณาแผนผังโครงสร้างของโคลงสี่สุภาพก่อน โดยมุ่งเสนอจำนวนวรรค คำเอก คำโท หรือข้อมูลที่เป็นตัวเลข ตำแหน่ง ตลอดจนเสนอการเชื่อมโยงของสัมผัส แต่ครูที่สอนในเชิงโลกนั้น จะนำด้วยการอ่านทำนองเสนาะโคลงสี่สุภาพ หรือร้องเพลงที่แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ (เช่นเพลงสยามมานุสสติ) ให้นักเรียนฟัง เพื่อให้นักเรียนเห็นภาพรวมของโคลงสี่สุภาพแล้วจึงค่อยไปพิจารณาความสัมพันธ์ทางด้านโครงสร้างของฉันทลักษณ์
ส่วนนักเรียนแบบวิเคราะห์นั้น จะพึงพอใจที่ได้เรียนรู้หลักการ กฎหรือโครงสร้างโดยทันที เช่นนักเรียนที่มุ่งศึกษาฉันทลักษณ์ โดยไม่สนใจกิจกรรมที่เร้าความสนใจ เช่น เกร็ดประวัติ เรื่องตลก เรื่องเล่า เพลง หรืออื่นๆ แต่ในทางตรงกันข้าม นักเรียนที่มีลักษณะเชิงโลกนั้น จะชื่นชอบหรือสนใจเพลงที่แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ หรือเกร็ดประวัตินักแต่งโคลงสี่สุภาพที่โลดโผนอย่างศรีปราชญ์ โดยเมื่อได้ทำหรือได้รับฟังแล้วจะมุ่งสนใจหาความสัมพันธ์ของฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพต่อไป สำหรับลักษณะการสอนของครูข้างต้นทั้งที่เป็นเชิงวิเคราะห์และเชิงโลกนี้ แท้จริงแล้วทั้งสองวิธีไม่มีวิธีใดที่ดีไปกว่ากัน หากขึ้นอยู่กับการจับคู่กันอย่างเหมาะสมระหว่างลักษณะการสอนของครูกับลักษณะการเรียนของผู้เรียน ซึ่งครูจะต้องรู้จักสังเกตตนเองว่าเป็นผู้มีลักษณะการสอนแบบใด และนักเรียนชั้นที่จะสอนนั้นส่วนใหญ่มีลักษณะการเรียนอย่างไร (Dunn และ Dunn,1993: 102) เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แนวทางการสอนนักเรียนเชิงโลก มีดังต่อไปนี้ (Dunn และ Dunn,1993: 102-104)
1. เครื่องมือในการนำ (Introducing material) : เริ่มต้นบทเรียนด้วยการใช้เรื่องราว เกร็ดสาระประวัติ เหตุการณ์เด่นๆ หรือเรื่องขำขัน ที่มีความสัมพันธ์ทางตรงกับเนื้อหาที่กำลังจะสอน ถ้าเป็นไปได้ ควรเป็นการนำที่มีความสัมพันธ์กับประสบการณ์ของนักเรียน แต่หากไม่สามารถปฏิบัติได้ ควรเป็นการนำที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับนักเรียน ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการสอนโคลงสี่สุภาพดังที่ได้ยกตัวอย่างไว้ตอนต้น ครูอาจนำด้วยการอ่านโคลงที่ครูแต่ง โดยนำชื่อและบุคลิกของนักเรียนในชั้นมาเป็นเนื้อหาของโคลง ฟังเพลงสยามมานุสสติที่นักเรียนค่อนข้างคุ้นเคย หรือ ครูให้นักเรียนดูภาพยนตร์สุริโยทัยช่วงท้ายเรื่อง แล้วอ่านโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ( วรรณคดีและวรรณกรรมในช่วงชั้นที่ 3 ม.2 ) ให้นักเรียนฟังเพื่อเสริมอารมณ์ เป็นต้น
2. การค้นพบจากการเรียนรู้ด้วยกลุ่ม ( Discovery through group learning) : ครูควรหลีกเลี่ยงที่จะบอกข้อเท็จจริงแก่นักเรียนโดยตรง โดยใช้การแก้ปัญหาข้อมูลด้วยตัวของพวกเขาแทน ในการทำกิจกรรมนี้ ครูต้องแนะนำให้นักเรียนแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ซึ่งจะดีกว่าการทำงานคนเดียว โดยส่วนใหญ่แล้ว นักเรียนเชิงโลกจะสามารถทำงานได้ถ้าไม่มีบรรยากาศของการข่มขู่ และมีความสนุกสนานที่จะแก้ปัญหาร่วมกับผู้อื่น ซึ่งสำหรับวิชาภาษาไทยแล้ว ควรส่งเสริมให้เกิดการทำกิจกรรมกลุ่ม เช่น การร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ตัวละครในวรรณคดี การร่วมกันทำโครงงานภาษาไทย เป็นต้น
3. การเขียนและการสัมผัส (Written and tactual involvement) : ในการสนับสนุนให้นักเรียนเชิงโลกคิดด้วยตนเอง หรือคิดเป็นกลุ่ม ครูจะต้องให้รายละเอียดข้อมูลใหม่ๆ เช่น กราฟ แผนที่ แผนภูมิ ซึ่งการแสดงให้เห็นด้วยภาพนั้น นักเรียนจะมีแน้วโน้มที่จะวาดความหมายจากรูป ภาพถ่าย สัญลักษณ์ รวมถึงการนำเสนอด้วยภาพต่างๆ สำหรับในวิชาภาษาไทย ในกลุ่มสาระวรรณคดีและวรรณกรรม ครูควรนำภาพวรรณคดีหรือตัวละครต่างๆ มาให้นักเรียนชม หรือหากศึกษาโคลงโลกนิติ ก็จัดกิจกรรมทัศนศึกษาวัดพระเชตุพน ฯ เพื่อให้นักเรียนได้ไปชมจารึกเป็นต้น
แนวการสอนนักเรียนเชิงวิเคราะห์ มีดังต่อไปนี้ (Dunn และ Dunn,1993: 104-105)
1. การอธิบายและการเสริมแรงที่มองเห็นได้ (Explanations and visual reinforcement) ครูจะต้องนำอธิบายวิธีการหรือขั้นตอนและเข้าสู่วัตถุประสงค์เฉพาะ โดยเขียนคำสำคัญที่ครูพูดบนกระดาน แล้วตอบคำถามที่ได้รับโดยชัดแจ้งและตรงประเด็นทันที รวมทั้งจะต้องใช้สื่อโสตทัศนูปกรณ์ประกอบด้วย ตัวอย่างเช่น การสอนเรื่องชนิดคำไทย ครูจะต้องนำเสนอคำสำคัญบนกระดาน เช่น
สามานยนาม วิสามานยนาม อาการนาม สมุหนาม และลักษณะนาม จากนั้นอธิบายคำนั้นๆอย่างชัดเจน
2. การกำหนดทิศทาง (Direction) : ครูจะต้องเสนอภาระงาน การบ้าน คำสั่ง
วันสอบและวัตถุประสงค์เฉพาะไว้ในเอกสารทบทวนซึ่งต้องจัดเตรียมไว้สำหรับแต่ละคน แต่หากมีกระดาษไม่เพียงพอ ครูก็จะต้องเขียนจดรายการไว้เป็นแผนภูมิและให้นักเรียนบันทึกไว้ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการสอนในระดับอุดมศึกษาที่ผู้เรียนจะได้รับประมวลรายวิชา (Course Syllabus) เป็นลำดับแรก เพื่อให้สามารถจัดลำดับภาระงานต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
3. การเรียนรู้โดยการสอนทางตรง หรือสัมพันธ์กับแหล่งทรัพยากร (Learning through direct teaching or related resources) : ครูต้องสอนไปทีละขั้นตอนโดยผ่านรายละเอียดที่จะสามารถย่อยและซึมซับเพื่อให้เกิดความเข้าใจหรือจนกระทั่งเกิดทักษะ เขียนคำสำคัญลงบนกระดาน แจกสำเนาเอกสารหรือวัสดุที่ทุกคนจะได้เหมือนกัน ขีดเส้นใต้เพื่อแยกส่วนที่สำคัญ ตรวจการบ้านและสมุดบันทึกทุกวัน สอนนักเรียนเกี่ยวกับวิธีการใช้ห้องสมุด และวิธีการค้นหาและใช้วัสุดุอุปกรณ์เสริมทางตรงที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์เฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนการสอนแบบโครงการ ที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้ลำดับขั้นตอนการทำโครงการเสียก่อนซึ่งอาจศึกษาจากเอกสาร จากนั้นจึงเข้าศึกษาแหล่งทรัพยากรหรือข้อมูลจากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆเป็นลำดับต่อไป
4. การทดสอบและผลตอบกลับ (Testing and feedback) : ครูจะต้องทดสอบนักเรียนบ่อยครั้ง จากนั้นจะต้องเตรียมผลการตอบกลับเกี่ยวกับรายละเอียดของผลการสอบโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะต้องสามารถตอบสนองต่อคำถามทันทีที่เป็นไปได้ นอกจากนี้จะต้องจดบันทึกความคาดหวังหรือความต้องการในกรณีที่ให้การบ้านหรืองาน จากนั้นให้พิจารณางานทั้งหมด ก่อนจะแจ้งให้ผู้เรียนทราบว่าจะสอบ
กล่าวโดยสรุป การนำเข้าสู่บทเรียนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ลักษณะของผู้เรียนว่ามีลักษณะการเรียนรู้เช่นใด และมีความสามารถในการเรียนรู้อยู่ในระดับใด ผู้สอนก็ควรใช้ลักษณะการนำและสอนที่สอดคล้องกับนักเรียนลักษณะเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น หากสอนภาษาไทยในโรงเรียนที่นักเรียนมีความสามารถสูง เช่น โรงเรียนวิทยาศาสตร์ ครูต้องเน้นการนำเสนอกฎ ทฤษฎีทางไวยากรณ์ หรือวรรณคดี โดยมุ่งให้นักเรียนวิเคราะห์เนื้อหาและทดสอบอย่างเป็นขั้นตอน แต่หากเป็นนักเรียนที่สนใจทำกิจกรรม ก็ควรใช้การนำที่หลากหลาย นอกเหนือจากสาระการเรียนรู้เพื่อเร้าให้เกิดความสนใจ เช่นการพิจารณาภาพ การเล่าเรื่อง การแสดงบทบาทสมมติ หรือการร้องรำทำเพลง จากนั้นจึงส่งเสริมให้ทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม
2. เทคนิคการสอนการคิด
การคิดเป็นทักษะที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนเพราะประกอบด้วยทักษะหลายทักษะประกอบกัน แม้จะยังมีความไม่เข้าใจในเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการภายในสมองและองค์ประกอบต่างๆ แต่นักการศึกษาและสังคมก็เชื่อว่า การคิดนั้นเป็นทักษะที่สามารถสอนได้ และโรงเรียนควรที่จะสอนด้วย พวกเขาเชื่อว่าการสอนทักษะของการคิดนั้น เร่งให้เกิดการพัฒนาจิตใจและสร้างนักเรียนให้เป็นผู้ที่สามารถพึ่งตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นมีคุณลักษณะเป็นผู้ผลิต (Myers และ Myers, 1995: 424) ซึ่งตัวอย่างของทักษะการคิดได้แก่ การแก้ปัญหา ( Problem soving ) และ การสร้างมโนทัศน์ ( Conceptualizing ) ซึ่งการคิดทั้งสองแบบนี้เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์ตลอดเวลา ในที่นี้จะเสนอเทคนิควิธีการสอนคิดแบบแก้ปัญหาซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
การแก้ปัญหา ( Problem soving ) : คือการที่คนต้องเผชิญกับสิ่งที่สร้างความยุ่งยากและจะต้องแก้ไขให้ผ่านพ้น โดยการแก้ปัญหานั้นเป็นเรื่องที่สามารถสอนได้ และคนสามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกหัด ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงสามารถสอนในโรงเรียนได้ ซึ่งจะมีลักษณะคือ ครูนำเสนอปัญหาแก่นักเรียนและมุ่งพิจารณาว่า นักเรียนคิดต่อปัญหานั้นอย่างไรมากกว่าที่จะพิจารณาว่านักเรียนคิดอะไร โดยครูใช้ธรรมชาติเกี่ยวกับความต้องการของนักเรียนที่เป็นแรงจูงใจ และช่วยให้นักเรียนตีความปัญหาในหนทางที่
สอดคล้องกับตัวนักเรียนเอง แล้วพัฒนาสมมติฐานเกี่ยวกับวิธีแก้ ทดสอบ และประเมินผล ครูจึงเป็นผู้นำทางปัญญานักเรียนและสนับสนุนจินตนาการให้นักเรียนสามารถมีความคิดรับมือกับสถานการณ์ใหม่ๆได้ (Myers และ Myers, 1995: 426)
วิธีการสอนแก้ไขที่มีชื่อเสียงมาก มีมาเมื่อนานแล้วโดยแนวคิดของ ริชาร์ด ซัคแมน ( Richard Suchman ) ในการออกแบบรูปแบบของเขา ซัคแมนได้วิเคราะห์ว่านักวิจัยที่ได้รับทุนนั้นมีวิธีการแก้ปัญหาของพวกเขาอย่างไร ซึ่งได้มีการปรับมาใช้ให้มีความหมายมากขึ้นในการเรียนการสอน และพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้กับครูไว้สำหรับแนะนำนักเรียนให้เรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน (Myers และ Myers, 1995: 427) โดยจะได้ยกตัวอย่างประกอบการศึกษาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง การศึกษาลักษณะคำประพันธ์ของบทละครร้องเรื่อง “มัทนะพาธา” ซึ่งเป็นบทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นวรรณคดีในช่วงชั้นที่ 4 ม.5 โดยมีรายละเอียดดังนี้
ขั้นที่ 1 : นำเสนอปัญหา ( Presenting the problem)
ครูนำเสนอปัญหาแก่นักเรียน ซึ่งปัญหานี้จะต้องไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนในทันที (การนำเสนออาจผ่านการสังเกตปัญหาที่สังเกตได้จริง เช่น พิจารณาจากสถานการณ์ ภาพยนตร์ รูปภาพหรือเรื่อง ) โดยในการสอนเรื่องลักษณะคำประพันธ์ในมัทนะพาธา อาจเสนอโดยการอ่านออกเสียงบทประพันธ์ให้นักเรียนฟัง และกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจว่าคำประพันธ์ที่ครูอ่านมีลักษณะคำประพันธ์อย่างไร
ขั้นที่ 2 : รวบรวมและตรวจสอบข้อมูล (Collecting and verifying data)
ครูช่วยนักเรียนตรวจสอบธรรมชาติของปัญหา โดยการตอบคำถามเกี่ยวกับข้อมูลบนวัตถุประสงค์ เงื่อนไข และเหตุการณ์ของปัญหาแต่มิใช่การตอบแบบ ใช่ หรือ ไม่ใช่ ซึ่งจากในขั้น 1 ครูให้นักเรียนตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคำประพันธ์ประเภทต่างๆ เช่น อ่านในเอกสารการเรียนรู้ ถามคำถามครู หรือค้นข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ
ขั้นที่ 3 : ทำการทดลองกับข้อมูล (Experimenting with data)
ครูจะต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนแยกแยะตัวแปรที่สนใจเฉพาะ และค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างปัญหา และนักเรียนเริ่มพัฒนาสมมติฐาน ซึ่งเมื่อมาถึงขั้นนี้นักเรียนต้องมุ่งศึกษาคำประพันธ์ประเภท “ฉันท์” และตรวจสอบกับเนื้อหาวรรณคดีมัทนะพาธา
ขั้นที่ 4 : ตั้งสมมติฐาน (Formulating a hypothesis)
ครูแนะนำนักเรียนเพื่อพัฒนาสมมติฐานที่จะอธิบายปัญหา ซึ่งสำหรับกิจกรรมนี้ นักเรียนอาจตั้งสมมติฐานว่า “วรรณคดีเรื่องมัทนะพาธาแต่งขึ้นด้วยฉันท์หลายชนิด รวมทั้งมีฉันท์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าคิดขึ้นด้วยพระองค์เองด้วย ทรงแต่งขึ้นเพื่อให้เป็นบทละครร้อง”
ขั้นที่ 5 : ประเมินสมมติฐาน (Evaluating the hypothesis)
ครูชี้แจงส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ในสมมติฐานของนักเรียน และสนับสนุนให้นักเรียนได้ตรวจสอบและประเมินสมติฐาน เช่นจากในข้อ 4 ครูอาจแนะนำว่าในส่วน “ทรงแต่งขึ้นเพื่อให้เป็นบทละคร
ร้อง” นั้นอาจเกินขอบเขตของปัญหาที่ครูนำเสนอเพราะเป็นประเภทของการบทละคร ในที่นี้นักเรียนจึงต้องศึกษาเฉพาะคำประพันธ์ประเภทฉันท์ในบทละครเรื่องมัทนะพาธาเท่านั้น
ขั้นที่ 6 : วิเคราะห์กระบวนการแก้ปัญหา (Analyzing the problem-solving process)
ครูช่วยนักเรียนวิเคราะห์สิ่งที่นักเรียนจะต้องแก้ในปัญหานั้นๆ โดยใช้กระบวนการกระทั่งกลายมาเป็นทักษะในที่สุด ในที่นี้คือ นักเรียนต้องวางแผนศึกษาคำประพันธ์ประเภทฉันท์ จากเอกสารประกอบการเรียนรู้ และจากแหล่งการเรียนรู้อื่นๆ จากนั้นนำมาศึกษาวิเคราะห์คำประพันธ์ในบทพระราชนิพนธ์มัทพาธา และจัดทำมาเป็นชิ้นงานซึ่งอาจอยู่ในรูปโครงงาน รายงาน บันทึก สิ่งประดิษฐ์หรือโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆเพื่อนำเสนอผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการแก้ปัญหาเรื่องลักษณะคำประพันธ์ประเภทฉันท์ในวรรณคดีเรื่องนี้ในที่สุด
การสอนให้เกิดทักษะการคิดโดยการใช้การแก้ปัญหา ยังสามารถนำไปใช้ในการสอนภาษาไทยในส่วนของทักษะภาษาและผลที่ได้ก็ย่อเกิดเป็นชิ้นงานหรืออาจถึงขั้นเป็น “นวัตกรรม” ในการเรียนการสอนได้ เช่น การหาสาเหตุปัญหาการอ่านทำนองเสนาะโดยการวิเคราะห์ด้วยแถบบันทึกเสียง
การพัฒนาการเขียนอันเนื่องมาจากการไม่มีลำดับความคิดโดยการใช้อุปกรณ์ เช่น การใช้แผนภาพความคิด การเพิ่มประสิทธิภาพการดูโดยใช้อุปกรณ์ช่วยดู เช่น กล้องบันทึกภาพ สมุดสำหรับร่างภาพ เป็นต้น การสอนด้วยวิธีนี้จึงช่วยทำให้ครูภาษาไทยสามารถยกระดับการพัฒนานักเรียน จากระดับเกิดความซาบซึ้งในคุณค่าและสุนทรียรส เป็นระดับที่ก่อเกิดปัญญาและเห็นคุณค่าในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
3. เทคนิคการจัดบรรยากาศห้องเรียน
การจัดบรรยากาศห้องเรียนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการประสบความสำเร็จของผู้เรียน การจัดระบบรูปแบบที่ผลคือนักเรียนมีความรู้สึกว่ากระทำได้ รวมทั้งมีความรู้สึกปลอดภัยนั้น ดูเหมือนว่าสามารถสร้างนักเรียนผู้ที่จะประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ห้องเรียนที่มีบรรยากาศดังกล่าวจะต้องมีลักษณะดังนี้ (Jacobsen Paul และ Dulaney, 1981: 234)
1.จะต้องรักษาความสมดุลระหว่างคำสั่งหรือวิธีการของครูกับทางเลือกของนักเรียน ตัวอย่างเช่น ครูมีจุดประสงค์ให้นักเรียนพูดสุนทรพจน์ให้ได้ แต่การพูดสุนทรพจน์เป็นการพูดขั้นสูง ดังนั้นครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนฝึกพูดเบื้องต้นเสียก่อน และให้นักเรียนได้เลือกตามความสนใจ เช่น พูดแนะนำตัว พูดแนะนำสินค้า กล่าวต้อนรับ กล่าวขอบคุณ เป็นต้น จากนั้นจึงพัฒนาการพูดไปสู่การพูดสุนทรพจน์
2. มีการเตรียมวิธีการที่เฉพาะเจาะจงและมีความชัดแจ้ง คือเป็นห้องเรียนที่มีสื่อและอุปกรณ์
พร้อม สามารถนำเสนอและทำกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการเตรียมนี้หมายรวมถึงการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีวิธีการเฉพาะและชัดเจนในทุกขั้น ยกตัวอย่างในการสอนต้องระบุว่าจะใช้การสอนแบบใด เช่น การสอนสัมมนาภาษาไทยปัจจุบัน การอภิปรายกลุ่มย่อย ซึ่งต้องมีใบงานกำหนดขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน
3. มีการรักษาความอิสระจำนวนมากสำหรับนักเรียนที่จะคิดและมีวิธีการอันเป็นทางเลือกที่หลากหลาย ครูต้องยอมรับความคิดที่ค่อนข้างอิสระของนักเรียน โดยเฉพาะจะปรากฏเมื่อตอบคำถาม เช่น นักเรียนอาจไม่ยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างพระอภัยมณีและนางเงือก หรือเห็นว่าขุนแผนเป็นผู้นำครอบครัวที่ใช้ไม่ได้ เป็นต้น ส่วนในเรื่องวิธีคิดนั้นอาจปรากฏในการทำกิจกรรม เช่นการทำโครงการคติชนเกี่ยวกับความเชื่อในชุมชน นักเรียนอาจเลือกใช้วิธีศึกษาจากเอกสาร สอบถาม สัมภาษณ์ หรือสังเกตข้อมูลที่สนใจศึกษาตามความถนัดและความสนใจได้
4.มีการเตรียมการอบรมทักษะระหว่างบุคคลกับบุคคล ทำให้ห้องเรียนเป็นสถานที่ที่นักเรียนจะบรรลุเป้าหมายและได้เรียนรู้เกี่ยวกับค่านิยม ซึ่งในชั้นเรียนภาษาไทยเอง ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์และรู้จักจัดการความสัมพันธ์ของตนอย่างเป็นระบบ ร่วมทั้งยังสามารถใช้วรรณคดีและวรรณกรรมต่างๆมาใช้เป็นบทสำหรับสังเกตประสบการณ์และขยายโลกทัศน์ของผู้เรียน ที่จะเชื่อมโยงจากตนเองไปสู่สังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้เรียนสามารถใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ทางภาษาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
เทคนิคการสอนเท่าที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของเทคนิคการสอนอีกเป็นจำนวนมาก การศึกษาและการนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย จะช่วยสร้างเสริมสมรรถภาพการเป็นครูภาษาไทยให้ก้าวสู่ความเป็นวิชาชีพมากยิ่งขึ้น แท้ที่จริงแล้วการสอนภาษาไทยได้เปรียบอยู่มากตรงที่เป็นการสอนที่มุ่งเน้นให้เกิดทักษะสัมพันธ์ทางภาษา ซึ่งผู้เรียนมีโอกาสขยายประสบการณ์ได้อย่างกว้างขวางหากครูใส่ใจ โดยคำว่าใส่ใจในที่นี้คือการสนใจในรายละเอียดเล็กน้อยๆที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการสนทนา การตอบคำถาม การตอบสนองและความสนใจ เป็นต้น ด้วยรายละเอียดเหล่านี้แท้จริงแล้วก็คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของนักเรียนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หากครูใส่ใจนักเรียนก็จะทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่น่าทรงจำและเกิดเป็นการเรียนรู้อย่างถาวร
_____________________________________________________________